วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559




ใบปิดหนัง” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งภาพยนตร์ และอยู่เคียงคู่กันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะหนังไทยของเรานั้น มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตามยุคสมัยมาโดยตลอด แม้กระทั่งทุกวันนี้ใบปิดหนังก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นใบปิดหนังยุคใหม่ที่ใช้ภาพและมีการออกแบบ ตลอดจนมีการจัดหน้าและพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเท่านั้นเอง
ในห้วงเวลาและการมีอยู่ของใบปิดหนังไทย รวมทั้งหนังจากต่างประเทศที่เข้ามาฉายในบ้านเรานั้น สิ่งที่หายไปจากใบปิดหนัง โดยเฉพาะหนังไทยก็คือภาพวาดที่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างหนังกับคนดูนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว มันยังเป็นภาพวาดที่มีชั้นเชิงศิลปะเฉพาะตัว และเป็นความสามารถเฉพาะด้านของศิลปินแนวนี้อีกด้วย
และโดยเฉพาะในยุคที่วงการหนังไทยเฟื่องฟูนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา วงการหนังไทยผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่รายเล็กจะขาดใบปิดหนังที่เป็นภาพวาดไม่ได้เลย เพราะนอกจากมันจะเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ภาพวาดที่ปรากฏอยู่ในใบปิดหนังมันยังเป็นงานศิลปะที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของหนังเรื่องนั้นๆเพื่อเรียกร้องให้คนที่ได้พบเห็นอยากจะดูหนังเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
ระหว่างใบปิดหนัง,ใบปลิวหนัง รวมทั้งโปสเตอร์หนังและคัทเอ๊าท์หนังที่มีขนาดใหญ่นั้น จะทำหน้าที่เหมือนกันนั่นคือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพียงแต่มีขนาดความใหญ่เล็กที่แตกต่างกันเท่านั้น
อย่างใบปลิวหนังจะมีขนาดเล็ก ส่วนมากจะเป็นเพียงข้อความ และมักจะใช้ตามโรงหนังต่างจังหวัด โดยตระเวนแจกไปตามรถแห่หนังที่ป่าวประกาศโฆษณาไปตามถนนสายต่างๆ
ส่วนใบปิดหนังนั้นเป็นการพิมพ์ย่อส่วนจากภาพต้นฉบับภาพวาดโปสเตอร์หนังขนาดใหญ่หรือคัทเอาท์หนังอีกที โดยใบปิดหนังที่พิมพ์จากส่วนกลางแล้วกระจายไปตามโรงหนังตามจังหวัด และตามอำเภอต่างๆ นั้น หากโรงหนังใดมีนักวาดโปสเตอร์หนังประจำอยู่ นักวาดก็มักจะนำไปเป็นต้นแบบในการวาดโปสเตอร์เพื่อติดโฆษณาไว้ที่หน้าโรงหนังอีกที
ปัจจุบันแม้ว่าใบปิดหนังที่เป็นภาพวาดโดยศิลปินประเภทนี้จะไม่มีอีกแล้ว แต่หากมองย้อนไปถึงยุคเฟื่องฟูก่อนที่มันจะสูญหายไปจากวงการหนังไทย มีมูลเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ภาพวาดในใบปิดหนัง และโปสเตอร์หนังขนาดใหญ่หายไปอย่างน่าเสียดาย
ขนบหนังไทยกับใบปิดหนัง
โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงคุณค่าของภาพวาดในใบปิดหนัง หรือโปสเตอร์หนังไทยในอดีตในยุคเฟื่องฟู โดยมีหลายๆปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน
ในช่วงปี 2515 เป็นต้นมาถือว่าเป็นยุคที่ใบปิดหนังเฟื่องฟูที่สุด แต่ก่อนหน้านี้ใบปิดหนังก็มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการใช้ภาพที่วาดโดยนักวาดที่ถนัดวาดภาพแนวนี้เท่านั้น ถ้าจะบอกว่าใบปิดหนังมันเป็นขนบอย่างหนึ่งของหนังไทยก็ว่าได้ และอีกส่วนที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญก็คือความเป็นแมสของใบปิดหนัง เพราะมันสามารถจะสื่อสารกับประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นตามตรอกซอกซอย ใบปิดหนังสามารถจะเข้าไปได้อย่างทั่วถึง
อีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ใบปิดหนังไทยในอดีตได้รับความนิยมก็คือ สภาพสังคมในยุคนั้น ซึ่งต่างจากยุคนี้ ช่องทางการใช้สื่อสำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังยังมีน้อย และเทคโนโลยีการสื่อสารก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนอย่างทุกวันนี้ด้วย ซึ่งมีสารพัดรูปแบบ และสามารถจะกระจายข่าวสารไปได้ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ใบปิดหนังจึงเป็นครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลอย่างยิ่ง
“สมัยก่อนถ้าเราเข้าไปนั่งในร้านกาแฟ หรือร้านขายอาหาร ก็จะเห็นใบปิดหนังแล้ว ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดและตามอำเภอหมู่บ้านต่างๆ จะต้องเห็นใบปิดหนังไม่มากก็น้อย ตามกำแพง ตามรั้วบ้าน ตามห้องแถว จะต้องมีใบปิดหนังให้เห็น”
ในส่วนคุณค่าของใบปิดหนังไทยในอดีตนั้น โดม บอกว่า ใบปิดหนังมันสามารถเล่าเรื่องของหนังเรื่องนั้นๆให้กับผู้ที่พบเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวบู๊ หนังรัก หนังตลก มันจะสะท้อนออกมาให้เห็นในภาพวาดใบปิดหนัง
อีกอย่างหนึ่งก็คือใบปิดหนังยุคนั้น มันเป็นภาพวาด และเป็นงานศิลปะด้วย เพราะอย่างนี้แหละจึงมีคนที่ชื่นชอบนำไปเก็บสะสมไว้ จนทุกวันนี้มันกลายเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า และมีการซื้อขายกันด้วย
ต้นฉบับคนวาดใบปิดหนังไทย
หากกล่าวถึงเรื่องใบปิดหนังไทยแล้ว จะขาดการเอ่ยถึงไม่ได้อย่างเด็ดขาด ก็บุคคลสำคัญที่สร้างสรรค์งานศิลปะบนใบปิดหนังไทยในอดีตที่โด่งดัง นั่นก็คือเปี๊ยก โปสเตอร์ต้นแบบผู้วาดภาพใบปิดหนังที่มีบทบาทอย่างมากต่อวงการหนังไทย และยังเป็นแบบอย่างที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ๆในสมัยนั้นที่ชื่นชอบงานด้านนี้ กระโจนเข้ามาสู่การเป็นนักวาดมืออาชีพหลายคน
นอกจากนี้แล้ว เปี๊ยก โปสเตอร์ ยังมีบทบาทในฐานะคนทำหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ และเป็นผู้กำกับหนังที่มากความสามารถอีกคนหนึ่งของเมืองไทยอีกด้วย
เปี๊ยก โปสเตอร์ หรือชื่อจริง สมบูรณ์สุข นิยมศิริเป็นคนเชียงใหม่ เรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่าง เริ่มเขียนงานโปสเตอร์มาตั้งแต่อายุ21 ปี ปัจจุบันในวัย83 ปีใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านปากช่อง แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้วาดภาพโปสเตอร์แล้ว แต่ก็ยังทำงานวาดภาพเหมือนอื่นๆอยู่
“สมัยก่อนหนังไทยมีแต่ใบปลิว ส่วนใบปิดหนังก็ไม่มีอะไรมาก มีแต่ตัวหนังสือ หรือไม่ก็เป็นภาพที่ทำจากการแกะบล็อค ซึ่งไม่มีอะไรมาก อีกอย่างหนึ่งสมัยนั้นการพิมพ์รูปมันไม่มีเหมือนเดี๋ยวนี้ การทำป้ายโฆษณาและป้ายคัทเอาท์ใหญ่ๆ จะต้องใช้ภาพวาดเป็นหลัก ผมจำได้ว่ายุคที่เขียนเขียนนั้นจะเป็นหนังฝรั่ง คนที่เปิดโอกาสให้ก็คือคุณพิสิฐ ตันสัจจา ผู้เป็นเจ้าของโรงหนังเฉลิมไทยนั่นแหละ แกเห็นแล้วชอบมาก โดยผมใช้สีโปสเตอร์วาด ก่อนหน้านั้นจะใช้สีน้ำมันเป็นส่วนมาก”
เปี๊ยก เล่าความหลังให้ฟังว่า หนังเรื่องแรกที่วาดเป็นหนังจากอิตาลีที่เข้ามาฉายในเมืองไทยเรื่อง เกาะรัก เกาะสวรรค์โดยสมัยนั้นบ้านเรายังไม่มีแท่นพิมพ์ระบบสี่สีออฟเซ็ทจะมีก็แต่แท่นพิมพ์ระบบสองสีคือขาวดำเท่านั้น เมื่อวาดเสร็จก็ต้องนำเอาไปพิมพ์ที่ฮ่องกง
สมัยนั้นผมได้ค่าจ้างวาดใบปิดหนัง 1500บาทต่อเรื่อง พูดง่ายๆก็คือภาพต้นฉบับนั่นแหละ จากนั้นก็เอาไปพิมพ์เป็นหมื่นๆใบ สำหรับนำไปแจกจ่ายให้โรงหนังทั้งในกรุงเทพฯแต่ต่างจังหวัดไปติดโฆษณา จำได้ว่าสมัยนั้นราคาค่าพิมพ์จะตกแผ่นละ 50สตางค์นี่แหละ ส่วนจำนวนหนังที่วาดนั้น จำไม่ได้หรอกว่ามีกี่เรื่อง ถ้าในช่วงมีหนังเข้ามาเยอะ ก็จะแจกทีมงานให้ช่วยทำ โดยผมมีทีมงานของผมอยู่
ในยุคนั้นนอกจากจะมีเปี๊ยก โปสเตอร์เป็นมือวาดโปสเตอร์หนังชื่อดังแล้ว อีกคนหนึ่งก็คือ ชวนะ บุญชู ซึ่งถือเป็นนักวาดภาพโปสเตอร์หนังฝีมือเยี่ยม และวาดภาพโปสเตอร์หนังเอาไว้เป็นจำนวนมาก
สำหรับเปี๊ยก โปสเตอร์นั้น หลังจากเลิกงานเขียนโปสเตอร์หนัง ก็หันมาทำหนังโดยทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ สร้างหนังหลายเรื่องซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามทั้งสิ้น เช่น เรื่อง โทน ชู้ วัยอลวน ฯลฯ พร้อมกับสร้างดาราหน้าใหม่ให้แจ้งเกิดในวงการหนังไทยหลายคนอีกด้วย
เวลาผ่านยุคสมัยเปลี่ยน
หนังไทยที่เคยเฟื่องฟูเริ่มถดถอยลงในราวปีปี 2535 เป็นต้นมา และนั่นหมายถึงการเลือนหายไปของการวาดภาพโปสเตอร์หนัง และภาพวาดในปิดหนังด้วย
สังคมที่เปลี่ยนแปลง และมีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ก้าวล้ำ ตลอดจนการถ่ายภาพที่ทันสมัย สะดวกและรวดเร็วกว่ายุคเก่า รวมทั้งการออกแบบ และการพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาพวาดในใบปิดหนังหายไป
เช่นเดียวกับแนวของหนังไทย ซึ่งแนวหนังแตกต่างไปจากยุคก่อน โดยเฉพาะแนวหนังบู๊ และหนังชีวิต ซึ่งเหมาะกับการวาดภาพใบปิดหนัง
และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ใบปิดหนังที่ใช้ภาพวาดต้องหมดยุคลง ก็เนื่องจากสิ้นสุดของยุคการดูหนังในโรงหนังขนาดใหญ่นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างการเข้ามาของหนังแผ่นต่างๆ พร้อมกับเครื่องฉายหลากหลายระบบที่สามารถจะฉายได้ภายในบ้าน หรือแม้กระทั่งในรถ ในเรือ ก็สามารถจะฉายดูได้ จึงทำให้โรงหนังปิดตัวเองเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
จากสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนั่นเอง จึงทำใบปิดหนังไทยที่ต้องใช้ฝีมือในการวาดภาพ หายไปจากวงการหนังไทย แม้ว่าในวันนี้ใบปิดหนังจะยังคงมีอยู่ก็ตาม แต่รูปแบบและวิธีการทำได้เปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้นแล้ว
จะเหลืออยู่ก็เฉพาะใบปิดหนังไทยในอดีต ซึ่งบัดนี้มันกลายเป็นของเก่าเก็บที่มีค่า และเป็นที่ปรารถนาของนักสะสมของเก่าเท่านั้น!

ผู้เขียน นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/667235

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น