วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559




ใบปิดหนัง” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งภาพยนตร์ และอยู่เคียงคู่กันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะหนังไทยของเรานั้น มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตามยุคสมัยมาโดยตลอด แม้กระทั่งทุกวันนี้ใบปิดหนังก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นใบปิดหนังยุคใหม่ที่ใช้ภาพและมีการออกแบบ ตลอดจนมีการจัดหน้าและพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเท่านั้นเอง
ในห้วงเวลาและการมีอยู่ของใบปิดหนังไทย รวมทั้งหนังจากต่างประเทศที่เข้ามาฉายในบ้านเรานั้น สิ่งที่หายไปจากใบปิดหนัง โดยเฉพาะหนังไทยก็คือภาพวาดที่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างหนังกับคนดูนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว มันยังเป็นภาพวาดที่มีชั้นเชิงศิลปะเฉพาะตัว และเป็นความสามารถเฉพาะด้านของศิลปินแนวนี้อีกด้วย
และโดยเฉพาะในยุคที่วงการหนังไทยเฟื่องฟูนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา วงการหนังไทยผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่รายเล็กจะขาดใบปิดหนังที่เป็นภาพวาดไม่ได้เลย เพราะนอกจากมันจะเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ภาพวาดที่ปรากฏอยู่ในใบปิดหนังมันยังเป็นงานศิลปะที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของหนังเรื่องนั้นๆเพื่อเรียกร้องให้คนที่ได้พบเห็นอยากจะดูหนังเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
ระหว่างใบปิดหนัง,ใบปลิวหนัง รวมทั้งโปสเตอร์หนังและคัทเอ๊าท์หนังที่มีขนาดใหญ่นั้น จะทำหน้าที่เหมือนกันนั่นคือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพียงแต่มีขนาดความใหญ่เล็กที่แตกต่างกันเท่านั้น
อย่างใบปลิวหนังจะมีขนาดเล็ก ส่วนมากจะเป็นเพียงข้อความ และมักจะใช้ตามโรงหนังต่างจังหวัด โดยตระเวนแจกไปตามรถแห่หนังที่ป่าวประกาศโฆษณาไปตามถนนสายต่างๆ
ส่วนใบปิดหนังนั้นเป็นการพิมพ์ย่อส่วนจากภาพต้นฉบับภาพวาดโปสเตอร์หนังขนาดใหญ่หรือคัทเอาท์หนังอีกที โดยใบปิดหนังที่พิมพ์จากส่วนกลางแล้วกระจายไปตามโรงหนังตามจังหวัด และตามอำเภอต่างๆ นั้น หากโรงหนังใดมีนักวาดโปสเตอร์หนังประจำอยู่ นักวาดก็มักจะนำไปเป็นต้นแบบในการวาดโปสเตอร์เพื่อติดโฆษณาไว้ที่หน้าโรงหนังอีกที
ปัจจุบันแม้ว่าใบปิดหนังที่เป็นภาพวาดโดยศิลปินประเภทนี้จะไม่มีอีกแล้ว แต่หากมองย้อนไปถึงยุคเฟื่องฟูก่อนที่มันจะสูญหายไปจากวงการหนังไทย มีมูลเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ภาพวาดในใบปิดหนัง และโปสเตอร์หนังขนาดใหญ่หายไปอย่างน่าเสียดาย
ขนบหนังไทยกับใบปิดหนัง
โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงคุณค่าของภาพวาดในใบปิดหนัง หรือโปสเตอร์หนังไทยในอดีตในยุคเฟื่องฟู โดยมีหลายๆปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน
ในช่วงปี 2515 เป็นต้นมาถือว่าเป็นยุคที่ใบปิดหนังเฟื่องฟูที่สุด แต่ก่อนหน้านี้ใบปิดหนังก็มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการใช้ภาพที่วาดโดยนักวาดที่ถนัดวาดภาพแนวนี้เท่านั้น ถ้าจะบอกว่าใบปิดหนังมันเป็นขนบอย่างหนึ่งของหนังไทยก็ว่าได้ และอีกส่วนที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญก็คือความเป็นแมสของใบปิดหนัง เพราะมันสามารถจะสื่อสารกับประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นตามตรอกซอกซอย ใบปิดหนังสามารถจะเข้าไปได้อย่างทั่วถึง
อีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ใบปิดหนังไทยในอดีตได้รับความนิยมก็คือ สภาพสังคมในยุคนั้น ซึ่งต่างจากยุคนี้ ช่องทางการใช้สื่อสำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังยังมีน้อย และเทคโนโลยีการสื่อสารก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนอย่างทุกวันนี้ด้วย ซึ่งมีสารพัดรูปแบบ และสามารถจะกระจายข่าวสารไปได้ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ใบปิดหนังจึงเป็นครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลอย่างยิ่ง
“สมัยก่อนถ้าเราเข้าไปนั่งในร้านกาแฟ หรือร้านขายอาหาร ก็จะเห็นใบปิดหนังแล้ว ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดและตามอำเภอหมู่บ้านต่างๆ จะต้องเห็นใบปิดหนังไม่มากก็น้อย ตามกำแพง ตามรั้วบ้าน ตามห้องแถว จะต้องมีใบปิดหนังให้เห็น”
ในส่วนคุณค่าของใบปิดหนังไทยในอดีตนั้น โดม บอกว่า ใบปิดหนังมันสามารถเล่าเรื่องของหนังเรื่องนั้นๆให้กับผู้ที่พบเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวบู๊ หนังรัก หนังตลก มันจะสะท้อนออกมาให้เห็นในภาพวาดใบปิดหนัง
อีกอย่างหนึ่งก็คือใบปิดหนังยุคนั้น มันเป็นภาพวาด และเป็นงานศิลปะด้วย เพราะอย่างนี้แหละจึงมีคนที่ชื่นชอบนำไปเก็บสะสมไว้ จนทุกวันนี้มันกลายเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า และมีการซื้อขายกันด้วย
ต้นฉบับคนวาดใบปิดหนังไทย
หากกล่าวถึงเรื่องใบปิดหนังไทยแล้ว จะขาดการเอ่ยถึงไม่ได้อย่างเด็ดขาด ก็บุคคลสำคัญที่สร้างสรรค์งานศิลปะบนใบปิดหนังไทยในอดีตที่โด่งดัง นั่นก็คือเปี๊ยก โปสเตอร์ต้นแบบผู้วาดภาพใบปิดหนังที่มีบทบาทอย่างมากต่อวงการหนังไทย และยังเป็นแบบอย่างที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ๆในสมัยนั้นที่ชื่นชอบงานด้านนี้ กระโจนเข้ามาสู่การเป็นนักวาดมืออาชีพหลายคน
นอกจากนี้แล้ว เปี๊ยก โปสเตอร์ ยังมีบทบาทในฐานะคนทำหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ และเป็นผู้กำกับหนังที่มากความสามารถอีกคนหนึ่งของเมืองไทยอีกด้วย
เปี๊ยก โปสเตอร์ หรือชื่อจริง สมบูรณ์สุข นิยมศิริเป็นคนเชียงใหม่ เรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่าง เริ่มเขียนงานโปสเตอร์มาตั้งแต่อายุ21 ปี ปัจจุบันในวัย83 ปีใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านปากช่อง แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้วาดภาพโปสเตอร์แล้ว แต่ก็ยังทำงานวาดภาพเหมือนอื่นๆอยู่
“สมัยก่อนหนังไทยมีแต่ใบปลิว ส่วนใบปิดหนังก็ไม่มีอะไรมาก มีแต่ตัวหนังสือ หรือไม่ก็เป็นภาพที่ทำจากการแกะบล็อค ซึ่งไม่มีอะไรมาก อีกอย่างหนึ่งสมัยนั้นการพิมพ์รูปมันไม่มีเหมือนเดี๋ยวนี้ การทำป้ายโฆษณาและป้ายคัทเอาท์ใหญ่ๆ จะต้องใช้ภาพวาดเป็นหลัก ผมจำได้ว่ายุคที่เขียนเขียนนั้นจะเป็นหนังฝรั่ง คนที่เปิดโอกาสให้ก็คือคุณพิสิฐ ตันสัจจา ผู้เป็นเจ้าของโรงหนังเฉลิมไทยนั่นแหละ แกเห็นแล้วชอบมาก โดยผมใช้สีโปสเตอร์วาด ก่อนหน้านั้นจะใช้สีน้ำมันเป็นส่วนมาก”
เปี๊ยก เล่าความหลังให้ฟังว่า หนังเรื่องแรกที่วาดเป็นหนังจากอิตาลีที่เข้ามาฉายในเมืองไทยเรื่อง เกาะรัก เกาะสวรรค์โดยสมัยนั้นบ้านเรายังไม่มีแท่นพิมพ์ระบบสี่สีออฟเซ็ทจะมีก็แต่แท่นพิมพ์ระบบสองสีคือขาวดำเท่านั้น เมื่อวาดเสร็จก็ต้องนำเอาไปพิมพ์ที่ฮ่องกง
สมัยนั้นผมได้ค่าจ้างวาดใบปิดหนัง 1500บาทต่อเรื่อง พูดง่ายๆก็คือภาพต้นฉบับนั่นแหละ จากนั้นก็เอาไปพิมพ์เป็นหมื่นๆใบ สำหรับนำไปแจกจ่ายให้โรงหนังทั้งในกรุงเทพฯแต่ต่างจังหวัดไปติดโฆษณา จำได้ว่าสมัยนั้นราคาค่าพิมพ์จะตกแผ่นละ 50สตางค์นี่แหละ ส่วนจำนวนหนังที่วาดนั้น จำไม่ได้หรอกว่ามีกี่เรื่อง ถ้าในช่วงมีหนังเข้ามาเยอะ ก็จะแจกทีมงานให้ช่วยทำ โดยผมมีทีมงานของผมอยู่
ในยุคนั้นนอกจากจะมีเปี๊ยก โปสเตอร์เป็นมือวาดโปสเตอร์หนังชื่อดังแล้ว อีกคนหนึ่งก็คือ ชวนะ บุญชู ซึ่งถือเป็นนักวาดภาพโปสเตอร์หนังฝีมือเยี่ยม และวาดภาพโปสเตอร์หนังเอาไว้เป็นจำนวนมาก
สำหรับเปี๊ยก โปสเตอร์นั้น หลังจากเลิกงานเขียนโปสเตอร์หนัง ก็หันมาทำหนังโดยทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ สร้างหนังหลายเรื่องซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามทั้งสิ้น เช่น เรื่อง โทน ชู้ วัยอลวน ฯลฯ พร้อมกับสร้างดาราหน้าใหม่ให้แจ้งเกิดในวงการหนังไทยหลายคนอีกด้วย
เวลาผ่านยุคสมัยเปลี่ยน
หนังไทยที่เคยเฟื่องฟูเริ่มถดถอยลงในราวปีปี 2535 เป็นต้นมา และนั่นหมายถึงการเลือนหายไปของการวาดภาพโปสเตอร์หนัง และภาพวาดในปิดหนังด้วย
สังคมที่เปลี่ยนแปลง และมีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ก้าวล้ำ ตลอดจนการถ่ายภาพที่ทันสมัย สะดวกและรวดเร็วกว่ายุคเก่า รวมทั้งการออกแบบ และการพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาพวาดในใบปิดหนังหายไป
เช่นเดียวกับแนวของหนังไทย ซึ่งแนวหนังแตกต่างไปจากยุคก่อน โดยเฉพาะแนวหนังบู๊ และหนังชีวิต ซึ่งเหมาะกับการวาดภาพใบปิดหนัง
และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ใบปิดหนังที่ใช้ภาพวาดต้องหมดยุคลง ก็เนื่องจากสิ้นสุดของยุคการดูหนังในโรงหนังขนาดใหญ่นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างการเข้ามาของหนังแผ่นต่างๆ พร้อมกับเครื่องฉายหลากหลายระบบที่สามารถจะฉายได้ภายในบ้าน หรือแม้กระทั่งในรถ ในเรือ ก็สามารถจะฉายดูได้ จึงทำให้โรงหนังปิดตัวเองเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
จากสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนั่นเอง จึงทำใบปิดหนังไทยที่ต้องใช้ฝีมือในการวาดภาพ หายไปจากวงการหนังไทย แม้ว่าในวันนี้ใบปิดหนังจะยังคงมีอยู่ก็ตาม แต่รูปแบบและวิธีการทำได้เปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้นแล้ว
จะเหลืออยู่ก็เฉพาะใบปิดหนังไทยในอดีต ซึ่งบัดนี้มันกลายเป็นของเก่าเก็บที่มีค่า และเป็นที่ปรารถนาของนักสะสมของเก่าเท่านั้น!

ผู้เขียน นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/667235

ศิลปะใบปิดหนังไทย


ใบปิดหนังไทยคือ ศิลปะ ที่เคยเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างแท้จริง สามารถเดินทางไปหาผู้คนได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าใครจะอยู่แห่งหนตำบลใด
"ใบปิด" หรือ "โปสเตอร์ภาพยนตร์" คือ รูปวาดหรือรูปพิมพ์ ที่ผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก บอกรายละเอียดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใครแสดง ใครสร้าง และใครเป็นผู้กำกับ ฉาย ที่ไหน รวมทั้งข้อความ เพื่อชักชวนให้ผู้ดูโปสเตอร์แผ่นนั้น ไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ นับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ในวันเวลาของยุคเก่าๆ
พลิกดูวิวัฒนาการของใบปิดภาพยนตร์ไทยจากหนังสือการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ ปี 2535 โดยสมชาติ บางแจ้ง จะพบว่ามีมาก่อน ปี พ.ศ.2497 หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ ภาพถ่าย ที่ได้มาจากบริษัทศรีกรุงในตอนหนึ่งของภาพยนตร์ศรีกรุง เรื่อง "แก่นกลาสี" ซึ่งมีฉากหนึ่งถ่ายทำ ที่โรงหนังศรีกรุงบางกะปิ จะเห็นว่า ที่รั้วของโรงหนังนั้น มีภาพโปสเตอร์เรื่อง "กลัวเมีย" ซึ่งพระเอก จำรัส สุวคนธ์ แสดงนำติดอยู่ ดังนั้น กล่าวได้ว่าโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในรูปแบบภาพวาดนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคศรีกรุง
ใบปิดหนังไทย ตำนานแห่งศิลปะ
ยุคต่อมา ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้ง ที่ 2 และระหว่างสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ตัวอย่างใบปิดจากเรื่อง "ศึกถลาง" เมื่อปี 2497 และภาพยนตร์เรื่อง "สันติ-วีณา" เมื่อปี 2498 จะเป็นรูปแบบของใบปิด ที่มีพิมพ์สกรีนธรรมดา เป็นการพิมพ์แบบสีเดียวหรือไม่เกิน 2 สี (ฟ้า-แดง) เป็นงานแบนๆ ขาดความลึก ไม่เป็นธรรมชาติ
หลังช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 เป็นยุคที่ทะนง วีรกุล สร้างชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการทำโปสเตอร์หนังไทย ที่มีลักษณะเป็นภาพวาด เช่นเดียวกับยุคศรีกรุง และเป็นผู้วางรากฐานของการเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยไว้จนมีวิวัฒนาการรูปแบบเฉพาะตัวเรื่อยมาจนถึงวันนี้
ยุคทองของใบปิดหนังไทยได้เริ่มขึ้น เมื่อประมาณ ปี 2500 ผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ สมบูรณ์ นิยมศิริ ซึ่งกระเดื่องดังในชื่อของ"เปี๊ยก โปสเตอร์"
เมื่ออายุได้ราว 21 ปี เปี๊ยก ซึ่งมีพื้นฐานการวาดรูปมาจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้ทดลองเขียนภาพสีโปสเตอร์ ซึ่งแตกต่างจากภาพสีน้ำมัน ที่ ช่างเขียนคัดเอาท์ หรือป้ายโฆษณาสินค้าทั่วไป และได้นำไปเสนอ พิสิฐ ตันสัจจา แห่งโรงหนังเฉลิมไทย ปรากฏว่า พิสิฐชอบอกชอบใจในผลงาน และให้เปี๊ยกเขียนโปสเตอร์ของบริษัทเป็นประจำต่อมา ฝีมือโปสเตอร์หนังไทยเรื่องแรกๆ ของเขา เช่น เรื่อง "นกน้อย" ของดอกดิน กัญญามาลย์ เมื่อแรกๆ ทุกโปสเตอร์ ที่เปี๊ยกวาดด้วยตัวเอง เขาจะเซ็นนามใต้รูปว่า "เปี๊ยก" แต่ต่อมา เมื่อมีงานมากขึ้นเขาจึงต้องมีทีมงานมาช่วย ลายเซ็นในโปสเตอร์จะเปลี่ยนไป เป็น "เปี๊ยก โปสเตอร์" ซึ่งกลายเป็นเหมือนชื่อบริษัท และคำว่าโปสเตอร์ได้กลายเป็นนามสกุลของเปี๊ยกไปโดยปริยาย
สำนักของเปี๊ยกกลายเป็นสำนักตักศิลา ที่เด็กหนุ่มคนแล้วคนเล่าได้เดินไปหาเขา และขอฝากตัวเป็นศิษย์ ลูกศิษย์คนสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงต่อมา เช่น บรรหาร ศิตะพงศ์ เด็กหนุ่มจากสงขลา ที่ฝึกการเขียนภาพจาก โรงหนังคิงส์หาดใหญ่ แล้วเดินทางมาสมัครเป็นศิษย์ของเปี๊ยก โปสเตอร์หนังเรื่องแรกๆ ที่เป็นฝีมือของเขาเต็มใบ เช่น เรื่อง "โทน", "มนต์รักลูกทุ่ง" และ "เงิน เงิน เงิน"
ทองดี ภานุมาศ เป็นศิษย์เอกอีกคนหนึ่ง ที่มีผลงานเด่นๆ จากเรื่อง "ชู้" ต่อมาเขาลาออกจากสำนักของเปี๊ยก และรับงานอิสระ เช่น โปสเตอร์ เรื่อง "ทอง ภาค 1-ภาค 2", "คาดเชือก" และ "คนขวางโลก"
เฮียริ้ม หรือพัชร์ แซ่อึ้ง เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ยอมรับว่า เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวการเขียนรูปโปสเตอร์ของเขามากที่สุด งานเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยชิ้นแรกของเขา ได้แก่ เรื่อง "เพชรตัดเพชร", "พ่อ ไก่แจ้" "แผลเก่า" และ "ลำพู"
หมดสิ้นยุคของเปี๊ยก โปสเตอร์ภาพยนตร์ไทย ก็ได้แปรเปลี่ยนไป มีการใช้เทคโนโลยีของภาพถ่าย และการพิมพ์ ที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น พร้อมๆ กับภาพใบปิดแบบเก่าๆ ได้แปรเปลี่ยนกลายไปเป็นของสะสม ที่ หายาก ว่ากันว่าภาพโปสเตอร์ ที่มีรายเซ็นของเปี๊ยก ราคาแผ่นละ 400-500 บาท บางเรื่องอาจจะสูงเป็นหลายพันบาท ส่วนภาพของนักวาดโปสเตอร์คน อื่นๆ ก็จะรองๆ ลงมา สวัสดิ์ สุวรรณปักษ์ นักสะสมคนหนึ่งยืนยันว่า ใบปิด บางชิ้นนักสะสมบางคนอาจจะทุ่มเงินซื้อแม้ต้องเสียเงินเป็นแสนก็ตาม
เมื่อเร็วๆ นี้ เปี๊ยกได้มีโอกาสมาวาดภาพใบปิดหนังไทยอีกครั้งให้กับเรื่อง "ฟ้าทะลายโจร" เปี๊ยกได้กล่าวไว้ในงานนิทรรศการใบปิดหนังไทย ที่กรมศิลปากรจัดขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2543 ที่ผ่านมาว่า หนังไทยอีกเรื่องหนึ่ง ที่เขามีความฝัน ที่จะเห็นโปสเตอร์หนังในเอกลักษณ์หนังไทยยุคแรกๆ ก็คือ "ศรีสุริโยทัย" ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ทุ่มงบสร้าง หลายร้อยล้านบาท
วันนี้ ปรมาจารย์ของใบปิดหนังไทย เปี๊ยก โปสเตอร์คงปิดฉากตัวเองในการวาดภาพโปสเตอร์ หนังไปแล้ว และกำลังมีความสุขอย่างมากกับการสอนวาดภาพให้กับเด็กๆ ณ บ้านของเขา ที่อำเภอปากช่อง
ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยกำลังพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันจบสิ้น แต่ดูเหมือนว่าภาพโปสเตอร์หนังไทยจะคงเหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่าเท่านั้น


http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=815

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เกี่ยวกับหนังสือ



วันนี้จะมาแนะนำหนังสือเรื่อง "ศิลปะบนใบปิดหนัง"
เป็นหนังสือที่จะอธิบายความหมายต่างๆในโปสเตอร์ภาพยนตร์ดังๆ
ว่าแต่ละองค์ประกอบที่อยู่บนใบปิดหนังนั้น ให้ความรู้สึกอะไร
และผู้จัดทำต้องการที่จะสื่ออะไรให้คนดู ซึ่งน่าสนใจมากๆครับผม

หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการรวมบทความ
จากคอลัมน์ ศิลปะบนใบปิดหนัง ซึ่งตีพิมพ์
เป็นประจำในนิตยสาร เพื่อนติวศิลปะ & 
ออกแบบ บทความต่างๆเหล่านี้พูดถึงวิธี
คิดในการออกแบบใบปิดหนังแต่ละเรื่องใน
แง่ของการใช้ทัศนธาตุในการออกแบบ ผู้
อ่านจะใช้อ่านเพื่อเป็นความรู้หรือความ

บันเทิงก็สามารถทำได้ทั้งสองทาง

แนะนำตัว

ก่อนอื่นเลย ผมขอสวัสดีอาจารย์
และทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของผมนะครับ

ผมชื่อ นายอิสญะ ตระกูลพุทธรักษา
ชื่อเล่นว่า อิส อ่านว่า อิฐ เขียนว่า อิส ครับ
ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยรังสิต ชั้นปีที่ 2
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และวิดีทัศน์